การสะเดาะเคราะห์ การแก้กรรม ในศาสนาพุทธ มีจริงหรือไม่ ตอนที่ 2 (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

การสะเดาะเคราะห์ การแก้กรรม ตามหลักพุทธศาสนานั้น เราจะต้องรู้จักว่า เรามีอะไรเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เกิดเคราะห์ร้ายขึ้นในชีวิต เราค้นหาเหตุนั้นให้พบ เมื่อพบเหตุนั้นแล้วตัดเหตุนั้น คือเลิกไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติในเรื่องนั้นต่อไป อย่างนี้เรียกว่า สะเดาะเคราะห์เด็ดขาด เคราะห์ร้ายจะไม่เกิดขึ้นแก่เราต่อไป

การสะเดาะเคราะห์ การแก้กรรม จากร้ายให้กลายเป็นดี หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง

การสะเดาะเคราะห์ ซึ่งคัดจากหนังสือสมบัติพ่อให้เล่ม ๑ หน้า ๒๔๓ –๒๔๘ ทั้งนี้ หลวงพ่อฤาษีลิงดำได้กล่าวถึงพิธี ได้กล่าวไว้ว่า

คำว่า เคราะห์กรรม เป็นวิธีเรียกของ “พราหมณ์” ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า กฎของกรรม คณาจารย์ต่างๆ เรียกไม่เหมือนกันแต่ผลมันเหมือนกันนั่นคือ “ความทุกข์” ถ้าอยากทราบว่าความทุกข์มาจากไหน..ก็จะเล่าให้ฟัง !

ประการแรก การป่วยไข้ไม่สบายทางร่างกาย มาจากกรรมปาณาติบาต การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ประการที่ ๒ ความทุกข์เกิดจากไฟไหม้บ้าง ขโมยปล้น ขโมยจี้ ลมพัดให้บ้านพัง น้ำท่วม มาจากโทษอทินนาทาน การลักขโมยของเขาจากชาติก่อน

ประการที่ ๓ เคราะห์กรรมที่ทำให้คนใต้บังคับบัญชาดื้อด้าน ว่ายากสอนยากไม่เชื่อฟัง มาจากโทษกาเมสุมิจฉาจาร เจ้าชู้จัดในชาติก่อน

ประการที่ ๔ เราพูดดีแต่คนอื่นไม่ชอบฟัง ไม่เชื่อฟัง มาจากโทษมุสาวาทจากชาติก่อน

ประการที่ ๕ การเป็นโรคปวดหัวบ่อยๆ หรือโรคประสาทก็ดี เป็นบ้าก็ดี เป็นโทษมาจากกฏของกรรม คือ ดื่มสุราเมรัย ในชาติก่อน อันนี้เป็นหลักหยาบๆ หลักใหญ่นะ

อย่างคนตาบอด ในสมัยชาติก่อน เขาทำบุญเห็นแล้ว แกล้งทำเป็นไม่เห็น อย่างคนหูหนวก เขาทำบุญสุนทาน เขาฟังเทศน์ฟังธรรมกันแกล้งส่งเสียงกลบ เขาฟังเทศน์ฟังธรรม เขาคุยกันด้วยความเคารพในธรรม เราแกล้งส่งเสียงกลบ เกิดเป็นคนหูหนวก ๕๐๐ ชาติอย่างนี้เป็นต้น

 

ก็รวมความว่า ขึ้นชื่อว่า เคราะห์กรรม คือ “กฏของกรรมเก่าของเราในชาติก่อน” คนทุกคนที่เกิดมานี้ที่ไม่มีกรรมเก่า ที่กรรมไม่ดี ไม่มีนะ ไม่เคยทำบาปนี้ไม่มี…(เนื้อหาซ้ำกันกับข้างต้นจึงขอข้ามไป)…

 

คำว่า สะเดาะเคราะห์ การแก้กรรม

หมายความว่า “ทำให้เคราะห์หมด” คำว่า “สะเดาะเคราะห์” ไม่มีศัพท์ในทางพระพุทธศาสนา เป็นศัพย์ของคณาจารย์ต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนาไม่มี ในเมื่อไม่มี ทำไมวัดท่าซุงจีงบอกว่า “สะเดาะเคราะห์” ก็เลยบอกว่าพูดตามเขา ทีนี้การทำคราวนี้ไม่ใช่สะเดาะเคราะห์ เป็นการสร้างความดี ความโชคดีให้เกิดขึ้น คือ หมายความว่าทำบุญให้มีกำลังสูง

 

คำว่า “เคราะห์” คือ บาป เราล้างไม่ได้แต่ถ้าหากว่าทำความดีให้มีกำลังสูงกว่า คำว่า “เคราะห์” จะเปรียบเทียบให้ฟัง เหมือนกับคนยืนอยู่กลางแดดจัดๆ เวลานี้อยู่ในร่มมันก็ร้อน ถ้ายืนกลางแดดมันก็ร้อน ถ้าทำบุญน้อยๆ ก็เหมือนกับมีร่มเล็กๆ ไปกางบังอยู่มันก็เย็นไปหน่อยหนึ่ง ทำบุญที่มีอานิสงส์มากๆ ก็เหมือนกับมีคนเอาน้ำไปราดให้ ก็มีความเย็น

 

ถ้าทำบุญที่มีกำลังสูงใหญ่ อย่างเราเจริญกรรมฐาน เหมือนกับเราแช่ในอ่างน้ำ ถึงเราจะอยู่กลางแจ้ง กลางแดด ความร้อนมันก็น้อยไป ข้อนี้ฉันใด การสะเดาะเคราะห์ก็เหมือนกัน การสะเดาะเคราะห์ไม่ได้ทำให้หมดไป

 

ตัวอย่าง : ในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ ในครั้งหนึ่งองค์สมเด็จพระบรมครูทางเทศน์เรื่อง กายคตานุสสติกรรมฐาน กับ อสุภกรรมฐาน สองอย่าง

 

คำว่า “กายคตานุสสติกรรมฐาน” หมายถึงการพิจารณาร่างกายของตนเอง “อสุภกรรมฐาน” ให้เห็นว่าร่างกายทุกคนเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครกทั้งหมด

 

พระ ๖๐ องค์เศษๆ ฟังแล้วพิจารณาตามเกิดความสลดใจเห็นว่าร่างกายของคน มีความสกปรกมาก มีความเบื่อหน่าย หลังจากเทศน์จบองค์สมเด็จพระจอมไตร ทรงบอกว่า นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฉันจะเข้าไปอยู่ในถ้ำ ๑๕ วัน ขณะที่อยู่ในถ้ำ ๑๕ วันห้ามมิให้คนอื่นเข้าพบ นอกจากพระที่ส่งอาหาร

 

บรรดาพระ ๖๐ องค์เศษๆ เหล่านั้น เมื่อฟังเทศน์จบก็พิจารณาร่างกายว่ามันสกปรก มีความรักเกียจร่างกายมาก ท่านเปรียบเทียบบอกว่า เหมือนหนุ่มสาวที่อาบน้ำใหม่ๆ แต่งตัวสวยๆ และมีคนเอางูเน่ามาคล้องคอ หรือเอาสุนัขเน่ามาแบกที่บ่าหรือใส่ที่บ่า มีความรังเกียจขนาดนั้น ในที่สุดก็ฆ่าตัวตายเองบ้าง จ้างคนอื่นฆ่าบ้าง

 

พอครบ ๑๕ วันพระพุทธเจ้าก็ออกจากถ้ำ ก็มีพระถามว่า การที่พระองค์ทรงเทศน์กายคตานุสสติ อสุภกรรมฐานทั้งสองอย่างทรงทราบหรือไม่ว่าพระ ๖๐ องค์เศษๆ จะฆ่าตัวตาย หรือจ้างคนอื่นฆ่าตัวตาย พระพุทธเจ้าบอกว่าทราบ ในเมื่อทรงทราบพระก็ถามว่า ทำไมจึงเทศน์ว่าเขาจะฆ่าตัวตาย

 

พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า ขึ้นชื่อกฏของกรรม ไม่มีใครหนีพ้น จะเทศน์อย่างนั้นหรือไม่เทศน์ก็ตาม เขาก็ต้องฆ่าตัวตาย หรือจ้างคนอื่นฆ่าตัวตาย เพราะกฏของกรรมเดิม กรรมเดิมที่พระพวกนี้เคยเป็นพรานฆ่าเนื้อ ฆ่าสัตว์มาก่อน มันติดตามมาทัน เขาต้องตายแบบนั้น

 

ฉะนั้นก่อนจะตาย ตถาคตจึงเทศน์กายคตานุสสติกรรมฐาน อสุภกรรมฐานสองอย่างรวมกัน ให้เขาพิจารณาเบื่อในร่างกาย ในเมื่อเขาตาย เขาไปนิพพานไม่ดีกว่าหรือ

 

ทีนี้การทำคราวนี้ ก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ทำลายให้เคราะห์หมดไป การทำลายเคราะห์คือบาป ทำลายไม่ได้โยม แต่ว่าเราทำบุญให้มีกำลังสูงขึ้น อย่างญาติพุทธบริษัทที่มานั่งที่นี่ทุกคน ไม่ใช่มีแต่เคราะห์ โชคก็มี คือชาติก่อนมีทั้งความดีมีทั้งความชั่ว มีทั้งบุญและบาป ขณะใดที่มีการป่วยไข้ไม่สบาย นั่นคือผลของบาปเข้าสนอง แต่ว่าทุกคนมีทรัพย์สินอยู่ได้เพราะผลของทาน ทานการให้ในชาติก่อน ทำให้คนมีทรัพย์สิน แต่การมีทรัพย์สินทำไมจึงไม่เสมอกัน

 

อย่างทานที่มีกำลังสูงสุดในด้านวัตถุก็คือ วิหารทาน เป็นทานที่มีกำลังสูงมาก ทานที่รองลงมาก็คือ สังฆทาน สังฆทานนี่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่เคยถวายสังฆทานแล้วครั้งหนึ่งในชีวิต ตายแล้วเกิดกี่ชาติก็ตาม ถ้ายังไม่เข้าพระนิพพานเพียงใด จะไม่พบกับความยากจนเข็ญใจ จะเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีทุกชาติ

 

ทีนี้คนที่เขาเป็นเศรษฐมหาเศรษฐีเพราะว่า เขาเคยถวายสังฆทานในกาลก่อน อันนี้เป็นผลอันหนึ่งที่เราจะทำ เพื่อเป็นการหลีกเร้นกฏของกรรม คือ “บาป” บาปถึงแม้มันจะกลั่นแกล้งขนาดไหนก็ตาม แต่เรามีกำลังบุญสูง คือคล้ายๆ กับสุนัขไล่กัด ถ้าเราวิ่งเร็วมันก็กัดไม่ทัน ถึงกัดทันก็กัดไม่ถนัด

ติดตามได้ในบทความถัดไปใน ตอนที่ 3

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *